Skip to content
- Home
- เศรษฐาขึ้นเวที FIC 2023 ส.อ.ท. ประกาศต่อเอกชน 300 คน – ทูต 35 ประเทศ ไทยเปิดแล้ว
เศรษฐาขึ้นเวที FIC 2023 ส.อ.ท. ประกาศต่อเอกชน 300 คน – ทูต 35 ประเทศ ไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุนจากต่างชาติ เน้นย้ำความร่วมมือกับภาคเอกชน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis: การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน สถานทูตประจำประเทศไทยและนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทยเข้าร่วมงานกว่า 300 ราย
โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกำหนดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างความได้เปรียบ
โดยบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมให้สอดรับกับความต้องการของโลก ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ายกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและเกิดความยั่งยืน เปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประตูยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ในภูมิภาค เน้นผลักดันนโยบายและมาตรการการลงทุน ซึ่งรัฐบาลพร้อมเปิดรับและร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และกรอบการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ด้วยนโยบายดังกล่าว ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนของต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการให้สิทธิประโยชน์จากการตั้งฐานการผลิตในไทย ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทย และปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ โดยการเร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา และเปิดเจรจา FTA ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกของไทย